บทความ

ผลกระทบที่เกิดจากการใช้ตลับลูกปืนปลอม

ทำไมตลับลูกปืนปลอมจึงเป็นอันตราย ?

ตลับลูกปืนปลอมไม่มีความน่าเชื่อถือในการทำงานและไม่มีประสิทธิภาพการทำงานเท่ากับตลับลูกปืนของแท้  ตลับลูกปืนปลอมมักพบในตลาดอะไหล่ทดแทน  ตลับลูกปืนปลอมอาจเป็นสาเหตุให้เครื่องจักรหยุดทำงานโดยกะทันหัน  และก่อให้เกิดความเสียหายแก่เครื่องจักรอย่างรุนแรง รวมถึงก่อให้เกิดผลกระทบร้ายแรงแก่สภาพแวดล้อมของเครื่องจักรนั้น ๆ  ยกตัวอย่างเช่น ตลับลูกปืนปลอมในเครื่องกำเนิดไฟฟ้า  ที่นอกจากจะทำให้เครื่องจักรเสียหายแล้ว  ยังก่อให้เกิดการผลิตกระแสไฟฟ้าหยุดชะงัก  เรามีกรณีตัวอย่างที่เกิดขึ้นในปี 2009  เมื่อ SKF ได้หยุดยั้งการนำตลับลูกปืนปลอมไปติดตั้งในสถานีไฟฟ้าในออสเตรเลีย  หากนำตลับลูกปืนปลอมนั้นไปใช้จะเกิดความเสียหายทำให้ 1 ใน 3 ของเมืองวิคทอรี่ไม่มีไฟฟ้า  หากนำตลับลูกปืนปลอมไปใช้ในเครื่องจักรสำคัญอาจก่อให้เกิดอันตรายต่อร่างกาย  เรามีกรณีตัวอย่าง ที่ผู้ผลิตเฮลิคอปเตอร์รายหนึ่ง  ได้สั่งซื้อตลับลูกปืนเครื่องหมายการค้า SKF ปลอมมาเพื่อติดตั้งในเฮลิคอปเตอร์โดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์

อย่างไรก็ตาม  เราอาจพบตลับลูกปืนปลอมในเครื่องจักรธรรมดา ๆ ที่อาจก่อให้เกิดความเสียหายรุนแรง มีรายงานว่าตลับลูกปืนปลอมที่ติดตั้งในปั๊มของสระว่ายน้ำเกิดไฟลุกไหม้ จนกระทั่งลามไปถึงตัวอาคาร  ทำให้อาคารถูกไฟเผาเสียหายทั้งหลัง  หรือแม้กระทั่งติดตั้งในเกียร์บ๊อคซ์ซึ่งแสดงอาการผิดปกติเมื่อผ่านการติดตั้งไปได้เพียง 1 สัปดาห์ 

ความจริงเกี่ยวกับตลับลูกปืนปลอม

ตลับลูกปืนปลอมพบได้ในทุกประเทศ  และหลายอุตสาหกรรม  ส่วนใหญ่ผลิตมาจากประเทศในเอเชียแต่มีการค้าขายกันข้ามทวีปไปทั่วโลก  เจ้าของเครื่องหมายการค้าที่มีชื่อเสียงหลักๆ ของโลกล้วนได้รับผลกระทบจากการนำสินค้าปลอมเครื่องหมายการค้า  ข้อเท็จจริงหนึ่งที่แตกต่างจากกรณีของสินค้าแฟชั่นหรือการละเมิดลิขสิทธิ์หนังและเพลง  คือ  ลูกค้าที่ต้องการจัดหาอะไหล่เครื่องจักรเพื่อทำการซ่อมบำรุง  ย่อมไม่เคยตั้งใจจะนำตลับลูกปืนปลอมมาติดตั้งเครื่องจักร  เพราไม่ต้องการให้เกิดความเสี่ยงต่อการเสียหายของเครื่องจักร  สำหรับสินค้าอุปโภคบริโภค  สินค้าที่ปลอมเครื่องหมายการค้ามักจะนำไปเสนอขายในตลาดด้วยราคาที่ต่ำกว่าเพื่อดึงดูดใจผู้ซื้อ  แต่สำหรับตลับลูกปืนปลอม  บริษัทที่ตั้งใจนำของปลอมมาขาย  มักจะตั้งราคาขายที่ราคาใกล้เคียงกับสินค้าของแท้

ซัพพลายเชนของตลับลูกปืนปลอม – การค้าข้ามพรมแดนที่ผิดกฎหมาย

ตลับลูกปืนสำหรับตลาดอะไหล่ทดแทนมักนำมาจัดจำหน่ายทางเครือข่ายผู้ขายรายย่อย  ผู้ผลิตตลับลูกปืนที่มีชื่อเสียงย่อมมีเครือข่ายผู้แทนจำหน่ายให้บริการลูกค้า  สำหรับผู้ขายที่ไม่ได้เป็นตัวแทนจำหน่ายอย่างเป็นทางการมักจะนำสินค้าหลากหลายแบรนด์มาบริการ  ด้วยการจัดหาและขายสินค้าในตลาดเสรี

ตลับลูกปืนปลอมส่วนใหญ่ผลิตมาจากในประเทศเอเชีย และมักจะมาจากประเทศจีน  มีการเสนอขายตลับลูกปืนปลอมที่มีเครื่องหมายการค้าชั้นนำจากผู้ขายในประเทศจีนจำนวนมาก  ผู้ซื้อจากต่างประเทศบางรายตระหนักว่าสินค้าเหล่านี้เป็นของปลอมและปฏิเสธ    บางรายรู้แต่จงใจนำสินค้าเข้าประเทศโดยไม่สนใจว่าเป็นสินค้าปลอม  ปัจจุบันเราได้พบเส้นทางการค้าตลับลูกปืนปลอมที่ส่งผ่านประเทศฮ่องกง สิงคโปร์ และไต้หวันเพิ่มมากขึ้น

สิ่งที่ SKF และผู้ผลิตตลับลูกปืนรายใหญ่ดำเนินการอยู่

SKF  มีทีมงานที่ทำงานด้านการปราบปรามการละเมิดเครื่องหมายการค้า  ทีมงานนี้ร่วมมือกับหน่วยงานรักษากฎหมายของประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก ในการดำเนินการด้านกฎหมายกับผู้ผลิตและผู้นำเข้า  รวมถึงการให้ความรู้ความเข้าใจในภัยของตลับลูกปืนปลอม  และชี้ให้เห็นความสำคัญของการซื้อสินค้าจากผู้แทนจำหน่ายแต่งตั้งเท่านั้น

เนื่องจากตลับลูกปืนอาจถูกนำมาใช้ในเครื่องจักรที่มีความสำคัญต่อความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน  หน่วยงานภาครัฐในหลายๆประเทศได้ให้ความสำคัญในการจับกุมผู้ค้าและผู้ผลิตสินค้าปลอมแปลงเครื่องหมายการค้ามากขึ้น  SKF ให้การสนับสนุนตำรวจ  กรมศุลกากร  และหน่วยงานอื่น ๆ ทั่วโลกในการปราบปรามผู้ละเมิดเครื่องหมายการค้า

SKF ร่วมกับผู้ผลิตตลับลูกปืนอื่น ๆ สร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับการค้าตลับลูกปืนปลอมและภัยของตลับลูกปืนปลอมผ่าน  World Bearing Organization  (www.stopfakebearings.com)


หากท่านพบสินค้าที่สงสัยว่าจะเป็นตลับลูกปืนปลอม กรุณาติดต่อ SKF ที่ genuine@skf.com  ได้ 24 ชั่วโมง

อะเซทีลีน(Acetylene) กับ โพรเพน(LPG)
เลือกใช้อะไรดีในงานตัด เชื่อม เผา

การใช้ก๊าซเพื่อตัด เชื่อมโลหะ เป็นวิธีที่นิยมในปัจจุบัน เนื่องจากใช้งานง่าย สามารถเคลื่อนย้ายสะดวก ปัจจุบันสามารถเลือกใช้ได้ทั้งก๊าซอะเซทีลีน(Acetylene) หรือ ก๊าซโพรเพน(Propane) ที่เรารู้จักกันในนาม LPG เดิมก๊าซ Acetylene เป็นก๊าชมาตรฐานที่ใช้กันในการตัดโลหะ แต่พอเริ่มมีการใช้ก๊าซ LPG กันอย่างแพร่หลาย ความนิยมในการใช้ ก๊าซ LPG ในการตัดโลหะก็เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ แต่ว่าจริงๆแล้วควรเลือกก๊าซประเภทไหนกันแน่ระหว่าง Acetylene กับ LPG ก่อนที่จะตัดสินใจว่าใช้ก๊าซไหนในงานตัดโลหะด้วยก๊าซดีกว่ากัน เรามารู้จักก๊าซทั้ง 2 ประเภทในแง่ต่างๆก่อนดีกว่า

อุณหภูมิของเปลวไฟ
ก๊าซAcetylene ให้เปลวไฟที่มีอุณหภูมิสูงกว่า ก๊าซ LPG โดยความร้อนของก๊าซ Acetylene จะร้อนจากด้านในเปลวไฟ ทำให้สามารถตัดโลหะหนาได้เร็วกว่า ก๊าซ LPG เนื่องจาก ก๊าซ LPG ต้องใช้เวลานานกว่าในการรอให้ระดับความร้อนของเปลวไฟเหมาะสมเพื่อที่จะทำการตัดโลหะ

แรงดันของก๊าซ
ก๊าซ LPG มีแรงดัน 15-20Psi ในขณะที่ ก๊าซ Acetylene มีแรงดัน 5 Psi ซึ่งแรงดันที่มากกว่าของก๊าซ LPG จึงทำให้การตัดโลหะที่ไม่หนามาก สามารถทำได้เร็วกว่า ก๊าซ Acetyelene

ความคมของรอยตัด
เนื่องจากก๊าซ Acetylene ความร้อนเปลวไฟรวมอยู่ด้านใน ในขณะที่ LPG ความร้อนของเปลวไฟมาจากรอบนอก ทำให้รอยตัดจากก๊าซ Acetyleneคมกว่า นอกจากนี้ Acetylene เป็นก๊าซที่มีความบริสุทธิ์มากกว่าก๊าซ LPG ที่มีสารอื่นๆปนเข้าไป ทำให้บางครั้งอาจเกิดฟองอากาศที่แนวเชื่อม รอยเชื่อมแตก เปราะได้ง่ายกว่า ก๊าซ Acetylene ที่แนวเชื่อมสวยและแข็งแรง

ความสะอาดชิ้นงาน
ก๊าซ LPG เป็นก๊าซที่เผาไหม้ได้หมด ในขณะที่ก๊าซ Acetylene ถ้ามีการปรับส่วนผสมของก๊าซอาจจะทำให้การเผาไม้ไม่สมบูรณ์และเกิดคราบเขม่า

ราคา และง่ายในการจัดหา
ก๊าซ LPG เป็นก๊าซที่สามารถหาได้ง่าย และราคาถูกกว่า เนื่องจากเป็นก๊าซประเภทเดียวกับที่ใช้ในการหุงต้มครัวเรือนทั่วไป จึงมีการคุมราคาจากรัฐบาล

ความปลอดภัย
ก๊าซ Acetylene เป็นก๊าซที่เบากว่าอากาศ ดังนั้นเมื่อมีการรั่วไหล จะลอยขึ้น ในขณะที่ ก๊าซ LPG หนักกว่าอากาศ เมื่อมีการรั่วไหลจะอยู่ติดพื้น ซึ่งก๊าซ LPG เป็นก๊าซที่ไม่มีสี และจุดติดไฟง่าย ดังนั้นหากทำงานในพื้นที่แคบ หรืออับอากาศ การใช้ก๊าซ Acetylene จะเหมาะสมกว่า

คณภาพถังก๊าซ
ถังก๊าซ LPG มีกฎหมายกระทรวงพลังงาน บังคับต้องตรวจสภาพถังทุก 5 ปี ในขณะที่ก๊าซ Acetylene ยังไม่มีกฏหมายรองรับในการตรวจสอบ จากปัจจัยต่างๆข้างต้น การจะเลือกใช้ก๊าซ Acetylene หรือ ก๊าซ LPG นั้นคงต้องดูความเหมาะสมของงานเป็นหลัก หากใช้งานตัดโลหะที่ไม่หนาและต้องการความง่ายในการจัดหา ก๊าซ LPG ก็น่าจะเป็นทางเลือกที่ดี ในขณะเดียวกัน หากต้องการใช้งานตัดโลหะหนา หรือทำงานในพื้นที่จำกัด หรือตัดโลหะหลายแบบ ก๊าซ Acetylene ก็เหมาะสมกว่า อ้างอิง www.weldingsupply.com.au

โลหะที่ใช้สำหรับงานเชื่อม
โดยทั่วไปจะเข้าใจว่าโลหะทุกชนิดสามารถเชื่อมได้ โดยเลือกใช้วิธีการเชื่อมชนิดต่างๆ เช่น การเชื่อมแบบปกคลุมการอาร์ค ( Shield Metal Arc Welding ) การเชื่อมแบบปกคลุมการอาร์คโดยใช้แก๊ส และการเชื่อมวิธีการอื่นๆ เป็นต้น

คุณสมบัติของโลหะโดยทั่วไปจะมีความแตกต่างกัน ซึ่งจะขึ้นอยู่กับส่วนผสมของธาตุต่างๆในโลหะชนิดนั้นๆ การเลือกใช้ลวดเชื่อมชนิดต่างๆจึงต้องคำนึงถึงส่วนผสมทางเคมีของโลหะที่ใช้เป็นหลักใหญ่ เพราะการผลิตและรายละเอียดของโลหะแต่ละชนิดล้วนแตกต่างกันอย่างมาก การแบ่งประเภทเหล็กกล้าโดยทั่วไปจะต้องคำนึงถึงปริมาณคาร์บอนเป็นเกณฑ์ ซึ่งแย่งได้ 3 ประเภทใหญ่ๆ คือ

1. เหล็กกล้าคาร์บอนต่ำ
2. เหล็กกล้าคาร์บอนปานกลาง
3. เหล็กกล้ากล้าคาร์บอนสูง

โลหะชนิดต่างๆมักจะถูกระบุให้อยู่ในรูปของชื่อทางการค้า และ รายละเอียดของเหล็กชนิดนั้นๆตามมาตรฐานต่างๆที่ได้กำหนดไว้ ซึ่งสามารถสรุปมาตรฐานต่างๆนิยมใช้กันได้ดังนี้

1. ASTM ( The American Society for Testing Materials ) ระบุรายละเอียดเหล็กกล้าชนิดต่างๆ
2. API ( The American Petroleum Institute ) ระบุรายละเอียดเหล็กที่ใช้ทำท่อประเภทต่างๆ
3. ASME ( The American Society of Mechanical Engineers ) รายละเอียดทั่วๆไปจะเหมือน
ASTM 4. Military and Federal Specifications
5. SAE ( The Society of Automotive Engineers ) และ AISI ( The American Iron and steel Institute ) ระบุรายละเอียดสัญลักษณ์ตัวเลขของเหล็กกล้า,เหล็กแสตนเลส ซึ่งสามารถบ่งชี้ได้ถึงส่วนผสมทางเคมีของเหล็กชนิดต่างๆด้วย
เกรดความหนืด ISO (VG)

ISO ได้กำหนดมาตรฐานที่ว่าด้วยความหนืดของน้ำมัน เรียกว่า เกรดความหนืด (ISO Viscosity Grade, VG) ซึ่งหมายถึงค่าความหนืดเฉลี่ยของน้ำมันที่อุณภูมิ 40◦C (105◦ F) ตัวอย่างเช่น น้ำมันเกรด ISO VG 68 มีค่าความหนืดเฉลี่ย 68 มม.2/วินาที ที่ 40◦C (105◦ F) หรือ 68 เซนติสโตก (cSt) หมายเหตุ : หน่วยวัดความหนืดคือ มม.2/วินาที หรือ เซนติสโตก (หน่วยเดียวกัน)

วิธีการเลือกชนิดน้ำมันที่เหมาะสม
น้ำมันแร่มาตรฐานนั้นสามารถใช้หล่อลื่นเครื่องจักรที่ใช้การหล่อลื่นด้วยน้ำมันส่วนใหญ่ได้อย่างเหมาะสมเพียงพออยู่แล้ว ควรเลือกใช้น้ำมันสังเคราะห์เมื่อมีความจำเป็นเท่านั้น เนื่องจากน้ำมันชนิดนี้มีค่าใช้จ่ายสูงกว่ากันมาก เมื่อเลือกน้ำมันหล่อลื่น ควรต้องพิจารณาปัจจัยที่เกี่ยวข้องทั้งหมด ควรรวบรวมข้อมูลต่าง ๆให้ครบถ้วนก่อนพิจารณาเลือกชนิดน้ำมัน
• ลักษณะการทำงาน
• ชนิดและขนาดของตลับลูกปืน
• ภาระที่กระทำกับตลับลูกปืน
• อุณหภูมิของตลับลูกปืนและอุณหภูมิสภาวะแวดล้อม
• ความเร็วรอบ
• ทิศทางของเพลา
• ปัจจัยภายนอกที่มีผล เช่น ความสั่นสะเทือน การเคลื่อนที่กลับไป-มา
• รายละเอียดเกี่ยวกับสิ่งแปลกปลอม

กระบวนการเลือกชนิดน้ำมันหล่อลื่น
กระบวนการเลือกชนิดน้ำมันอย่างแม่นยำถูกต้องนั้นประกอบด้วยขั้นตอนโดยละเอียด 3 ขั้นตอน กระบวนการเลือกชนิดน้ำมันโดยย่อแสดงไว้ดังนี้

1. เลือกความหนืดของน้ำมัน
การเลือกชนิดน้ำมัน อาศัยพื้นฐานคือการเลือกความหนืดของน้ำมันที่สามารถให้การหล่อลื่นได้อย่างเพียงพอ ภายใต้สภาวะการทำงานที่กำหนด
หมายเหตุ : น้ำมันที่มีความหนืดในระดับต่ำ หมายความถึงมีความเสียดทานต่ำ แต่ชั้นฟิล์มน้ำมันที่ได้มีขนาดบาง ส่วนน้ำมันที่มีความหนืดสูง หมายความถึงชั้นฟิล์มน้ำมันมีขนาดหนา แต่มีความเสียดทานสูง จึงจำเป็นต้องหาจุดสมดุล
สารหล่อลื่นต้องรักษาความหนืดขั้นต่ำไว้ค่าหนึ่ง ที่ระดับอุณหภูมิทำงานปกติ เพื่อสร้างชั้นฟิล์มน้ำมันระหว่างผิวสัมผัสต่าง ๆ ภายในตลับลูกปืน ความหนืดคิเนมาติก V1 ขั้นต่ำที่จำเป็นต่อการหล่อลื่นอย่างเพียงพอสามารถประเมินหาได้โดยใช้ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางเฉลี่ยของตลับลูกปืน dm และความเร็วรอบ n (แผนภาพ 1) ประสิทธิผลของสารหล่อลื่นแต่ละชนิดประเมินได้จากอัตราส่วนความหนืด K ซึ่งหมายถึงอัตราส่วนระหว่างความหนืดในการทำงานจริง V ต่อความหนืดคิเนมาติกขั้นต่ำ V1 โดยทั่วไปแล้วอัตราส่วนความหนืดที่เหมาะสมมีค่าอยู่ระหว่าง 1 ถึง 4
ความหนืดคิเนมาติกขั้นต่ำ คือ ความหนืดที่จำเป็นในการหล่อลื่น “ ณ อุณหภูมิทำงานปกติ ” ความหนืดของน้ำมันเดียวกัน เมื่อเทียบไปที่ระดับอุณหภูมิ อ้างอิงตามมาตรฐานสากล 40◦C (105◦F) สามารถหาได้ (จากแผนภาพ 2) หรือสามารถคำนวนณได้ เมื่อได้ข้อมูลเหล่านี้ ก็สามารถเลือกเกรดความหนืด ISO VG ขั้นต่ำได้ ในการประเมินเกรดความหนืด ISO VG ขั้นต่ำ ให้ปฏิบัติตามขั้นตอนต่อไปนี้ หมายเหตุ : ในการประเมินอุณหภูมิทำงานของตลับลูกปืน อาจใช้หลักเกณฑ์ว่า อุณหภูมิน้ำมันนั้นโดยปกติมีค่าสูงกว่าอุณหภูมิเสื้อตลับลูกปืนอยู่ประมาณ 3 ถึง 11◦C (5 ถึง 20◦F)

1. คำนวนณขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางเฉลี่ยของตลับลูกปืน dm ความเร็วรอบ n และอุณหภูมิที่คาดว่าเป็นอุณหภูมิทำงานของตลับลูกปืน T
2. ใช้แผนภาพ 1 กำหนดจุดตัดระหว่างขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางเฉลี่ยและความเร็วรอบ
3. มองตามแนวระดับ เพื่ออ่านค่าบนแกนตั้งในการหาค่าความหนืดคิเนมาติกขั้นต่ำ V1 ณ อุณหภูมิทำงาน
4. ใช้แผนภาพ 2 หาจุดตัดระหว่าง ค่าความหนืดคิเนมาติกขั้นต่ำ V1 ณ อุณหภูมิทำงาน ซึ่งหามาจากขั้นตอนก่อนหน้านี้ กับค่าอุณหภูมิทำงานของตลับลูกปืน
5. หาเส้นโค้งในแนวทแยงเส้นแรกทางขวาของจุดตัดนี้ ซึ่งเป็นเกรดความหนืด ISO VG ขั้นต่ำสุดที่สามารถเลือกใช้ได้
หากสารหล่อลื่นที่เลือกใช้มีความหนืดสูงเกินกว่าค่าที่ต้องการ อาจปรับปรุงสมรรถนะการทำงานให้เพิ่มสูงขึ้นได้ แต่เนื่องจากความหนืดที่เพิ่มขึ้นมีผลทำให้อุณหภูมิทำงานของตลับลูกปืนเพิ่มขึ้นด้วย จึงจำเป็นต้องหาจุดสมดุล

ตัวอย่าง
ตลับลูกปืนตลับหนึ่งมีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางภายใน d = 340 มม. และขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางภายนอก D = 420 มม. ต้องทำงานที่ความเร็วรอบ n = 500 รอบต่อนาที ดังนั้น dm = 0.5 (d+D) = 380 mm จากแผนภาพ 1 ค่าความหนืดคิเนมาติกขั้นต่ำ V1 ที่จำเป็นเพื่อให้ได้การหล่อลื่นที่เพียงพอ ณ อุณหภูมิทำงานมีค่าประมาณ 11 มม2/วินาที จากแผนภาพ 2 หากสมมติว่าอุณหภูมิทำงานของตลับลูกปืนคือ 70◦C (160◦F) จะพบว่าน้ำมันหล่อลื่นที่ต้องการใช้งานต้องมีระดับความหนืดตามเกรด ISO VG 32 เป็นอย่างน้อย หมายความว่าน้ำมันมีความหนืดคิเนมาติก V 32 มม2/วินาที ที่อุณหภูมิอ้างอิง 40◦C (105◦F)

2.ตรวจสอบความจำเป็นต้องการใช้สารเพิ่มคุณภาพชนิดป้องกันการสึกหรอ (anti-wear) และรับแรงกดสูง (extreme pressure)

สารเพิ่มคุณภาพชนิดป้องกันการสึกหรอและรับแรงกดสูง จำเป็นสำหรับตลับลูกปืนที่มีความเร็วรอบต่ำและรับภาระงานหนัก สารเพิ่มคุณภาพเหล่านี้ยังเหมาะสำหรับงานที่มีแรงกระแทก เครื่องจักรที่หมุนกลับไปกลับมา และเครื่องจักรที่เดินเครื่องสลับกับหยุดเครื่องบ่อย ๆ อีกด้วย
ข้อควรระวัง : สารเพิ่มคุณภาพรับแรงกดสูง (EP) บางชนิดอาจมีผลเสียต่อวัสดุของตลับลูกปืน และทำให้ตลับลูกปืนมีอายุการใช้งานสั้น โดยเฉพาะเมื่ออุณหภูมิสูงเกินกว่า 80◦C (175◦F) โปรดตรวจสอบกับผู้ผลิตสารหล่อลื่น

3. ประเมินความต้องการเพิ่มเติมอื่น ๆ
หากมีสภาวะการทำงานบางอย่างเกิดขึ้นเป็นการเฉพาะ คุณสมบัติของน้ำมันต้องเหมาะสมสอดคล้องกับสภาวะการทำงานดังกล่าว ตัวอย่างเช่น เมื่อตลับลูกปืนต้องทำงานในช่วงอุณหภูมิทำงานที่ค่อนข้างกว้าง น้ำมันที่เลือกใช้ต้องมีคุณสมบัติเปลี่ยนแปลงเพียงเล็กน้อย เมื่ออุณหภูมิเพิ่มขึ้นหรือลดลง กล่าวอีกนัยหนึ่ง น้ำมันที่ใช้ต้องมีค่าดัชนีความหนืด (VI) ค่อนข้างสูง
เครื่องมือเพิ่มเติมสำหรับการเลือกชนิดน้ำมัน
โปรแกรมสารเลือกสารหล่อลื่น SKF LubeSelect สามารถใช้เลือกชนิดและความหนืดของน้ำมันที่เหมาะสม เครื่องมือเลือกชนิดน้ำมันเหล่านี้อ้างอิงตามกระบวนการเลือกโดยทั่วไป และควรใช้เพียงเพื่อเป็นแนวทางประกอบเท่านั้น